“พิมพ์ภัทรา” สั่งสมอ. เร่งสกัด "เหล็กด้อยคุณภาพ"เข้าไทย หลังทุบตลาดร่วง

23 กรกฎาคม 2567
“พิมพ์ภัทรา” สั่งสมอ. เร่งสกัด "เหล็กด้อยคุณภาพ"เข้าไทย หลังทุบตลาดร่วง

“พิมพ์ภัทรา” สั่งสมอ. เร่งสกัด "เหล็กด้อยคุณภาพ" เข้าไทย หลังทุบตลาดร่วง เผยมีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และไม่ได้มาตรฐาน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว 

ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร และยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ 

โดยจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน 

ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ อีกทั้งยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ประกอบด้วย 

  • เหล็ก PPGI หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 
  • เหล็ก PPGL หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 
  • เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 
  • เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่นอีก จำนวน 122 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450 มาตรฐาน

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า 

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อลูมิเนียม ไฟฟ้าและไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต 

"สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป"


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.